คุณธรรม จริยธรรม เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานทั่วไป ถ้าไม่มีคุณธรรม จริยธรรมแล้ว มันก้อไม่ต่างอะไรกับสัตว์ดีๆนี่เอง

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษา


คุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษา


คุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษา

       การศึกษานับเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้หรือพัฒนามนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย เพราะการที่มนุษย์จะดำรงชีวิตอยู่ได้นั้น ก็ด้วยการศึกษาเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์การดำรงอยู่ของมนุษยชาติ ก็คือประวัติศาสตร์แห่งการศึกษานั่นเอง กล่าวเฉพาะในสังคมไทย การศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทยแสดงออกมาในหลาย ๆ ลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาโดยตรง หรือแสดงออกมาโดยอ้อมผ่านความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมและการดำเนินชีวิตอื่น ๆ ดังจะเห็นได้จากการใช้คำศัพท์ในภาษาไทยหลายคำที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์ เช่น คำว่า เรียน เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา ศึกษา ฝึกฝน อบรม นักเรียน นิสิต นักศึกษา บัณฑิต ปราชญ์เป็นต้น คำเหล่านี้แม้จะแตกต่างกันไปตามระดับขั้นของการใช้และแหล่งที่มาของคำศัพท์ แต่ก็บ่งบอกถึงนัยแห่งการศึกษาและการเรียนรู้นั่นเอง

        การใช้คำเหล่านี้กับมนุษย์สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษาเล่าเรียน ต้องเรียนรู้ ฝึก หัด และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว มนุษย์จะต้องฝึกหัดพัฒนาตนเองอยู่เสมอจึงจะอยู่รอดได้ เพราะมนุษย์ไม่เหมือนสัตว์ประเภทอื่น ซึ่งเกิดมาแล้วก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แม้แต่คลอดออกมาในวันนั้นก็ตาม เช่น เป็ด ไก่ สุนัข ฯลฯ โดยนัยนี้ ชีวิตของมนุษย์จึงเป็นชีวิตแห่งการศึกษา(พระธรรมปิฎก 2539 : 15) หรืออีกนัยหนึ่ง การศึกษานั่นเองคือชีวิตของมนุษย์
โดยธรรมชาติ มนุษย์จึงต้องศึกษาเล่าเรียน ฝึกฝน พัฒนาตนเองเพื่อที่จะดำเนินชีวิตด้วยดี การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการพัฒนามนุษย์ และในขณะเดียวกัน การศึกษาเองก็เป็นตัวการพัฒนาที่สมบูรณ์อยู่ในตัวด้วย การศึกษาตามความหมายนี้จึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะการเล่าเรียนหนังสือในห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องของการฝึกหัด การเรียนรู้ การพัฒนาทั้งทางด้านร่างกายและความคิด มนุษย์จะต้องศึกษาเล่าเรียนหรือเรียนรู้ทุกสิ่งอย่างที่เข้าไปเกี่ยวข้อง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักศึกษาที่แท้จริง

   เมื่อกล่าวถึง “คุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษา” จึงหมายถึงคุณสมบัติหรือคุณลักษณะภายในจิตใจที่ดีงามของนักศึกษาที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ให้เป็นไปได้ด้วยดี และการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นนักศึกษาที่ดีงามนั่นเอง
หากจะตั้งคำถามว่า แล้วอะไรล่ะเป็นคุณธรรมและจริยธรรมที่สำคัญและจำเป็นต่อการศึกษาและเรียนรู้ของนักศึกษา คำตอบคงจะมีหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะมองคุณสมบัติอะไรเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญ ในที่นี้จะเสนอคุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษาตามหลักของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาแห่งการศึกษา คือ มองชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์เป็นเรื่องของการศึกษาทั้งสิ้น ขอเรียกว่า “อุปนิสัย 7 ประการสู่การเป็นนักศึกษาที่มีประสิทธิผลสูงสุด” เพราะคุณธรรมและจริยธรรมนั้นเป็นเรื่องของความประพฤติที่เคยชิน (Habit)ของแต่ละบุคคลที่เรียกว่า อุปนิสัยของแต่ละคน

อุปนิสัยที่ 1 สวมหัวใจนักปราชญ์

ในสังคมไทยสมัยโบราณ มีการกำหนดคุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษาไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียน ความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อครูอาจารย์ ความเคารพ
คุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษา 3
เชื่อฟังครูอาจารย์เป็นต้น อันถือได้ว่าเป็นคุณลักษณะภายในจิตใจและถือเป็นหน้าที่ที่นักศึกษาจะต้องประพฤติปฏิบัติในการศึกษาเล่าเรียน นักศึกษาจึงเป็นคนที่มีครูอยู่ในหัวใจที่ถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้ นอกจากนี้แล้ว ยังจะมีหลักประจำใจที่ถือเป็นหลักจำเป็นของการเป็นนักศึกษาหรือนักปราชญ์ที่จะต้องแสวงหาความรู้ เรียกว่า “หัวใจนักปราชญ์” ซึ่งเรียกย่อ ๆ ว่า หลัก สุ. จิ. ปุ. ลิ.
คำว่า สุ. มาจากคำว่า สุต หมายถึง การฟัง การฟังหรือการอ่านมาก นักศึกษาจะต้องเป็นคนที่ฟังมากและอ่านมาก รับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ยิ่งในปัจจุบันนี้ เป็นสังคมยุคข้อมูลข่าวสาร ก็ยิ่งมีข้อมูลที่จะรับรู้เป็นจำนวนมากจากสื่อสารชนิดต่าง ๆ
คำว่า จิ. มาจากคำว่า จินต หมายถึง การคิด เมื่อรับรู้ข้อมูลเข้ามาแล้วก็นำมาคิดไตร่ตรอง จัดระบบความคิดให้เป็นระเบียบตามกระบวนการในการคิด หรือนำเอาข้อมูลมาจัดระบบใหม่ให้เป็นระบบความคิดของเราเอง
คำว่า ปุ. มาจากคำว่า ปุจฉา หมายถึง การถาม เมื่อคิดไตร่ตรองแล้ว ยังมีข้อที่สงสัยหรือไม่เข้าใจก็ไตร่ถามครูหรือท่านผู้รู้ รวมทั้งมีข้อสงสัยใคร่รู้ก็สืบค้นหาคำตอบจากแหล่งความรู้แหล่งอื่น ๆ
คำว่า ลิ. มาจากคำว่า ลิขิต หมายถึง การเขียน หรือการสื่อสาร เมื่อรู้อย่างชัดเจนแล้วก็ลงมือบันทึกไว้หรือเขียนแสดงความคิดนั้นเพื่อสื่อไปยังผู้อื่น อันเป็นการแสดงออกถึงความรู้ความสามารถของเราให้ผู้อื่นได้เข้าใจหรือรับรู้ด้วย
หลักหัวใจนักปราชญ์นี้ จึงยังเป็นหลักคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับนักศึกษาที่ใช้ได้อยู่เสมอ ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม นักศึกษาจะต้องฝึกให้มีทักษะทั้งสี่ประการนี้เสมอ เพื่อจะเป็นนักศึกษาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

อุปนิสัยที่ 2 ก้าวสู่หลักแห่งการเป็นนักศึกษาที่สมบูรณ์แบบ

ในปัจจุบันที่สังคมกำลังก้าวไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) นักศึกษาจะต้องมีคุณสมบัติที่จะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการฝึกฝนและพัฒนาตนเอง หลักที่จะนำไปสู่การเป็นนักศึกษาดังกล่าวนี้ เรียกว่า “แสงเงินแสงทองของชีวิตนักศึกษา “ หรือ “รุ่งอรุณของการศึกษา” (พระธรรมปิฎก 2539 : 142 – 162) ซึ่งเป็นหลักประกันชีวิตของการเป็นนักศึกษาว่า ชีวิตที่มีคุณลักษณะ 7 ประการต่อไปนี้ จะเป็นชีวิตที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นนักศึกษาและเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ กล่าวคือ
คุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษา 4
1.) รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี จุดเริ่มต้นของการเป็นนักศึกษาทีดีนั้น จะต้องเริ่มจากการรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี การมีพ่อแม่ ครูอาจารย์ สื่อสารมวลชน ผู้ใหญ่ทั่วไป รวมทั้งเพื่อนและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่ดีงาม อันจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษาเรียนรู้ เช่น การรู้จักดูโทรทัศน์รายการที่มีประโยชน์ การรู้จักคบเพื่อนที่ดี การเลือกอ่านหนังสือที่ให้ความรู้เป็นต้น แหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดีเหล่านี้จะมีอิทธิพลชักนำและชักชวนให้เจริญงอกงามในการพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาของนักศึกษา รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นให้นักศึกษารู้จักใช้ปัจจัยภายนอกทั้งที่เป็นบุคคล หนังสือ และเครื่องมือสื่อสารทั้งหลายให้เป็นอุปกรณ์และเป็นประโยชน์ในการแสวงหาความรู้และความดีงาม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิต แก้ปัญหาและทำการต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์

2.) รู้จักจัดระเบียบชีวิต และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม นักศึกษาจะต้องเป็นคนที่มีระเบียบวินัย กล่าวคือ เป็นผู้รู้จักจัดระเบียบความเป็นอยู่ กิจกรรมและกิจการการเรียน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมให้เอื้อโอกาสแก่การพัฒนาชีวิตและแก่การศึกษา เช่น การวางแผนการเรียนและทำตารางเวลา ตารางประจำวัน ประจำสัปดาห์ ว่าจะอ่านอะไรก่อนหลัง จะทำกิจกรรมอะไรบ้าง และจะทำเมื่อไรเป็นต้น นอกจากนี้ นักศึกษาจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาของสถาบันและของสังคมด้วย ซึ่งอันที่จริงแล้ว การศึกษาในสถาบันการศึกษานั้น ก็คือ การฝึกปรือการมีวินัยแก่ตนเองอย่างหนึ่งนั่นเอง นักปราชญ์บางท่านจึงกล่าวว่า ความสำเร็จทางด้านการศึกษานั้น อาศัยสติปัญญาน้อยกว่าการมีระเบียบวินัย

3.) มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง มีอุปนิสัยแห่งความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ใฝ่ดี ใฝ่ทำ ใฝ่สัมฤทธิ์ ใฝ่ความเป็นเลิศหรือมุ่งสู่ความเป็นเลิศ เช่น อยากได้ปริญญา อยากมีเงินเดือนดี อยากมีตำแหน่งหน้าที่ที่ดีงามเป็นต้น จึงเรียนหนังสือ จึงเลือกเรียน เลือกวิชา เลือกอาชีพนั้น ๆ ที่ตนคิดว่าจะทำให้ประสบสิ่งที่ต้องการ นอกจากนี้แล้ว ลึก ๆ ลงไป ยังใฝ่สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มิใช่เพราะอยากจะได้เงินหรืออยากจะได้ตำแหน่ง แต่อยากช่วยทำทุกสิ่งทุกคนที่ตนเกี่ยวข้องให้เข้าถึงภาวะที่ดีงาม ความสำเร็จ ไม่หลงติดอยู่แค่คิดจะได้จะเอาและหาความสุขจากการเสพบริโภค ไม่คิดต่ำเพียงเพื่อจะทำกิจการต่าง ๆ เพียงให้ผ่าน แต่มีจิตใจที่ใฝ่ในความสัมฤทธิ์ที่สูงส่ง อยากให้สิ่งที่ทำออกมาอย่างดีเลิศ รู้จักใช้อินทรีย์ คือ ตา หู เป็นต้น ในการเรียนรู้ หาความสุขจากการศึกษาและมีความสุขจากการทำความดีงามด้วยการใช้สมองและมือในการสร้างสรรค์ แรงจูงใจนี้จะช่วยให้นักศึกษามุ่งมั่นสร้างสรรค์ มีความเพียรพยายามและมีพัฒนาการอยู่เสมอ

4.) พัฒนาศักยภาพของตนให้เต็มที่ มีอุปนิสัยมุ่งมั่นฝึกตนจนเต็มสุดภาวะที่ความเป็นคนจะให้ถึงได้ มีจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา โดยมีความเชื่อมั่นตามหลักการที่ว่า
คุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษา 5
มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองจนเป็นสัตว์ประเสริฐสูงสุดได้ มองเห็นความยากลำบากอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ เป็นดุจเวทีที่ทดสอบและพัฒนาสติปัญญาความสามารถของตนเอง ถ้าไม่พัฒนาตนเองก็ไม่มีโอกาสแสดงออก ไม่สามารถนำเอาศักยภาพไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

5.) มีทัศนคติและค่านิยมที่ดี การเป็นนักศึกษาจะต้องมีทัศนคติและค่านิยมแห่งการเป็นนักศึกษาที่ดีงาม มองสิ่งต่าง ๆ เป็นเรื่องของการเรียนรู้ อยู่ในหลักความคิดความเชื่อที่ดีงามมีเหตุผล เชื่อในหลักของการกระทำว่าเป็นสิ่งที่จะกำหนดสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นเป็นตามเหตุปัจจัย กับทั้งมีพฤติกรรมและจิตใจที่อยู่ในอำนาจเหตุผล รู้เหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่มองเฉพาะสิ่งผิวเผิน ไม่มีค่านิยมฟุ้งเฟ้อเกินตัว แต่มองในหลักแห่งเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ตามแนวของเหตุผลเป็นสำคัญ

6.) มีความกระตือรี้อร้นขวนขวาย ไม่ประมาท ไม่เฉื่อยฃา เป็นผู้มีจิตสำนึกที่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท มีจิตสำนึกต่อการเปลี่ยนแปลง มีความกระตือรื้อร้นขวนขวายไม่อยู่นิ่งเฉย ไม่เป็นคนเฉื่อยชา ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า มีอะไรเกิดขึ้นที่อาจจะเป็นเหตุแห่งความเสื่อม ก็ไม่อยู่นิ่ง รู้เท่าทันและหาทางป้องกันแก้ไข และเมื่อสิ่งที่ดีงามเข้ามาก็ไม่ประมาท รีบเสริมสร้างเหตุปัจจัยของความเจริญงอกงามให้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

7.) รู้จักคิดพิจารณาให้เกิดปัญญาที่จะรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้จักคิด รู้จักพิจารณา มองเป็น คิดเป็น รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาสอบสวนสืบค้นวิเคราะห์วิจัย เพื่อให้เข้าถึงความจริงของสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาและจัดทำดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยวิธีการแห่งปัญญา
หลักทั้ง 7 ประการนี้ เป็นหลักที่มีความสำคัญมากที่จะนำไปสู่การเป็นนักศึกษาที่สมบูรณ์แบบและนำไปสู่การเรียนรู้ที่แท้จริง นักศึกษาจึงต้องสร้างอุปนิสัยเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในตัวเอง

อุปนิสัยที่ 3 มีชีวิตที่เทียมด้วยกงล้อแห่งความสำเร็จ

รถที่จะวิ่งไปถึงจุดหมายปลายทางได้สำเร็จอย่างปลอดภัย จะต้องประกอบด้วยล้อ 4 ล้อฉันใด นักศึกษา หรือนักค้นคว้าใด ๆ ก็ตาม ที่จะประสบความเจริญก้าวหน้าในการศึกษาเล่าเรียน ก็จะต้องมีชีวิตที่เทียมด้วยกงล้อแห่งความสำเร็จเช่นกัน ซึ่งเรียกว่า จักร 4 (พระธรรมปิฎก 2541 : 35 – 36) อันเป็นหลักที่จะทำให้ชีวิตแห่งการศึกษาเจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ คือ
คุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษา 6
1. เลือกอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม เลือกหาถิ่นที่อยู่ หรือแหล่งเล่าเรียนดำเนินชีวิตที่ดี ซึ่งมีบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่อำนวยแก่การศึกษา การพัฒนาชีวิต การแสวงหาความรู้ การสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม และความเจริญก้าวหน้า
2. รู้จักคบกับคนดี รู้จักเสวนาคบหาหรือร่วมหมู่กับบุคคลผู้รู้ ผู้ทรงคุณ และผู้ที่จะเกื้อกูลแก่การแสวงหาความรู้ ความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเกื้อกูลต่อการศึกษาหาความรู้ เช่น การรู้จักเลือกอ่านหนังสือที่ดี การใช้เครื่องมือสื่อสารที่เป็นไปเพื่อการศึกษาเป็นต้น
3. ดำรงมั่นในการเป็นนักศึกษา ดำรงตนมั่นอยู่ในแนวทางของการเป็นนักศึกษาที่ดีงาม ตั้งเป้าหมายแห่งชีวิตและการศึกษาให้ดีงามและแน่ชัด และทำกิจกรรมทุกอย่างที่จะนำตนไปสู่จุดหมาย แน่วแน่ มั่นคงในแนวทางนั้น ไม่อ่อนไหวออกนอกทาง ไม่หลงเพลิดเพลินในสิ่งยั่วยุหรือความชั่วต่าง ๆ
4. สั่งสมคุณงามความดีและสติปัญญา อาศัยทุนดีที่เป็นพื้นมาแต่เดิม คือ ความมีสติปัญญา ความถนัด และร่างกายดีเป็นต้น รู้จักแก้ไขปรับปรุงตนเอง ศึกษาหาความรู้ สร้างเสริมคุณสมบัติ ความดีงาม ฝึกฝนความชำนิชำนาญเตรียมไว้ก่อนแต่ต้น ต่อเมื่อมีเหตุที่ต้องใช้ก็จะเป็นผู้พร้อมที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้น ๆ ได้อย่างง่าย สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์สุขและก้าวสู่ความเจริญในการศึกษายิ่ง ๆ ขึ้นไป

อุปนิสัยที่ 4 มีหลักแห่งความสำเร็จ

นักศึกษาที่จะประสบความสำเร็จ จะต้องมีคุณธรรมหรือปฏิบัติตามหลักการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน ที่เรียกว่า อิทธิบาท 4 กล่าวคือ
1. มีใจรักในการศึกษาเล่าเรียน (ฉันทะ) มีใจรัก พอใจในการศึกษาเล่าเรียนและศึกษาเล่าเรียนด้วยใจรัก ต้องการทำให้การศึกษาเล่าเรียนออกมาอย่างดีที่สุด มิใช่สักแต่ว่าทำพอให้เสร็จ ๆ หรือเพียงเพราะอยากได้รางวัลหรือคะแนนเท่านั้น แต่มุ่งหวังความเป็นเลิศหรือความเป็นผู้รู้ในศาสตร์นั้น ๆ อย่างแท้จริง

2. พากเพียรศึกษาค้นคว้า (วิริยะ) มีความขยันหมั่นประกอบ หมั่นศึกษาค้นคว้าด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระ ไม่ทอดทิ้ง ไม่ท้อถอย ก้าวไปข้างหน้าจนกว่าจะประสบความสำเร็จแม้ว่าจะมีอุปสรรคมากขนาดไหนก็ตาม

3. ใส่ใจต่อการศึกษาเล่าเรียน (จิตตะ) ศึกษาค้นคว้าด้วยความตั้งใจ ตั้งจิตรับรู้ในการศึกษาเล่าเรียนและทำสิ่งนั้น ๆ ด้วยความคิด ไม่ปล่อยจิตใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ใช้ความคิดในเรื่องที่ศึกษาบ่อย ๆ และเสมอ ๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของนักศึกษา
คุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษา 7

4. ใช้ปัญญาสอบสวน(วิมังสา) หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ ตรวจตราหาเหตุผล รู้จักทดลอง วางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงงานเป็นต้น เพื่อให้การศึกษาได้ผลดียิ่งขึ้น

อุนิสัยที่ 5 เสริมสร้างสติปัญญา

ชีวิตของการเป็นนักศึกษานั้น นอกจากจะมีหลักในการแสวงหาความรู้แล้ว จะต้องพยายามสร้างสรรค์สติปัญญาอยู่เสมอ โดยการปฏิบัติตามหลักแห่งการสร้างความเจริญงอกงามแห่งปัญญา 4 ประการ (วุฒิธรรม) คือ
1. คบหาหรือเสวนาผู้รู้ คบหาท่านผู้รู้ ผู้ทรงคุณความดี มีภูมิธรรมภูมิปัญญาน่านับถือ รู้จักเลือกหาแหล่งวิชา รู้จักอ่านหนังสือที่จะให้ความรู้ที่มีประโยชน์

2. ใส่ใจฟังคำสอน เอาใจใส่สดับตรับฟังคำบรรยาย คำแนะนำสั่งสอน แสวงหาความรู้ทั้งจากตัวบุคคลโดยตรง และจากหนังสือหรือสื่ออื่น ๆ ตั้งใจเล่าเรียน ค้นคว้า หมั่นปรึกษาสอบถามให้เข้าถึงความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง

3. คิดให้แยบคายถ่องแท้ รู้ เห็น ได้อ่าน ได้ฟังสิ่งใดก็รู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเอง นำมาคิดเป็นระบบความคิดของตนเอง โดยแยกแยะให้เห็นความจริง และสืบสาวให้เห็นความเป็นเหตุผลว่า สิ่งนั้นคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น และจะเกิดผลอะไรต่อไป มีข้อดี ข้อเสีย คุณโทษและเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ๆ อย่างไรบ้างเป็นต้น

4.ปฏิบัติให้ถูกหลักหรือนำมาใช้ปฏิบัติจริง นำสิ่งที่ได้ศึกษาเล่าเรียนและรับฟังมา และที่คิดไตร่ตรองดีแล้วไปใช้หรือลงมือปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักของสิ่งนั้น ๆ

อุปนิสัยที่ 6 เคารพครู – อาจารย์และผู้จุดประทีปปัญญา

คุณธรรมและจริยธรรมที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของนักศึกษา ก็คือ ความสัมพันธ์กับครูอาจารย์ สถาบันการศึกษาและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ในฐานะผู้จุดประทีปปัญญา โดยแสดงความเคารพนับถือตามหลักปฏิบัติดังนี้
1. ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพครูอาจารย์ และให้ความเคารพสถาบันการศึกษาและสิ่งที่ให้ความรู้แก่ตนเอง

2. เข้าไปหาครู-อาจารย์และสถาบัน เพื่อบำรุง รับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำเป็นต้นจากครูอาจารย์และจากสถาบันที่เข้าไปศึกษา

3. รู้จักฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟังให้เกิดปัญญา ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูอาจารย์ และเคารพเชื่อฟังในกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัยของสถาบันการศึกษาและสิ่งที่เป็นเครื่องมือทางการศึกษาเป็นต้น
คุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษา 8

4. ปรนนิบัติและช่วยบริการครูอาจารย์และสถาบันการศึกษา บำรุงสถาบันการศึกษาและช่วยงานของสถาบันให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และให้เป็นสถาบันที่จะถ่ายทอดความรู้แก่อนุชนต่อไป รวมทั้งการดูแลเครื่องมือการศึกษาให้อยู่คงทน

5. เรียนหนังสือและศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ เรียนโดยตั้งใจ ไม่เฉื่อยชา

อุปนิสัยที่ 7 มีองค์ประกอบคุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษาที่สมบูรณ์แบบ

คุณธรรมและจริยธรรมที่จะนำไปสู่การเป็นนักศึกษาที่สมบูรณ์แบบและมีประสิทธิภาพยิ่งนั้นเมื่อกล่าวโดยสรุป ก็จะมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ กล่าวคือ
1. ความเป็นผู้มีสติปัญญา มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ ถูกต้อง ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง คุณธรรมจริยธรรมข้อนี้ ก็คือ ความเป็นคนเก่งนั่นเอง

2. เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นผู้สามารถปฏิบัติต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง หรือนำเอาความรู้ความเข้าใจเหล่านั้นมาใช้ปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาด ควบคุมตนเอง มีความรับผิดชอบ มีเหตุผล มีความซื่อสัตย์ มีความขยันหมั่นเพียร คุณลักษณะข้อนี้ ก็คือ ความเป็นคนดี

3. เมื่อปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้องหรือดำเนินชีวิตได้ถูกต้องตามที่ได้ศึกษาเรียนรู้แล้ว ก็จะนำไปสู่ผลที่ต้องการ คือการแก้ปัญหาได้สำเร็จ เมื่อแก้ปัญหาได้สำเร็จลุล่วงแล้วก็จะมีอิสรภาพและมีความสุข คุณธรรมของการเป็นนักศึกษาข้อนี้ ก็คือ ความสุข
อุปนิสัยที่ 7 นี้ จึงเป็นอุปนิสัยที่จะช่วยให้นักศึกษาได้ตรวจสอบว่า ตนเองเป็นนักศึกษาที่สมบูรณ์แบบหรือยัง โดยดูจากคุณลักษณะแห่งการเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ซึ่งเป็นองค์ประกอบของการเป็นนักศึกษา
บทสรุป
อุปนิสัยทั้ง 7 ประการดังกล่าวมานี้ เป็นหลักคุณธรรมและจริยธรรมที่คอบคลุมชีวิตการเป็นนักศึกษาทั้งหมด นักศึกษาจึงต้องหมั่นพิจารณาและตรวจสอบตนเองอยู่เสมอว่า ตนเองประกอบไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษาที่สมบูรณ์แบบ คือ เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาการต่าง ๆ หรือเป็นคนเก่งหรือยัง (มีปัญญา) สามารถที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีงามถูกต้อง เป็นผู้มีระเบียบวินัยหรือเป็นคนดีหรือยัง (มีศีล) และเป็นผู้มีความสุขจากการศึกษาเล่าเรียน ปลอดโปร่งเป็นอิสระ ไม่เครียดหรือเป็นผู้มีความสุขในการศึกษาเล่าเรียนหรือไม่ (มีสมาธิ)
คุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษา 9
นอกจากนี้ นักศึกษาอาจจะตรวจสอบชีวิตการเป็นนักศึกษาที่สมบูรณ์แบบตามหลักปณิธานของมหาวิทยาลัยศรีปทุมก็ได้ว่า นักศึกษาเป็นผู้ที่มีปัญญา มีความเชี่ยวชาญ มีความเบิกบาน และมีคุณธรรมหรือไม่เพียงใด
เมื่อได้ตรวจสอบตนเองแล้วพบว่า มีส่วนใดที่ยังบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ ก็ให้หมั่นฝึกฝนและพัฒนาตนเองในส่วนนั้น ๆ ให้มากขึ้น ตามหลักในการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมดังกล่าวมา และมีส่วนใดที่พบว่า มีอยู่แล้ว ก็ให้พัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป เมื่อพัฒนาตนเองได้อย่างนี้แล้ว ชีวิตของการเป็นนักศึกษาก็จะเป็นชีวิตแห่งการศึกษาและเรียนรู้ที่แท้จริง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น